นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. 68 ว่า อยู่ที่ระดับ 91.8 ปรับตัวลดลง จาก 93.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งเป็นผลจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อก (Aftershock) กระทบต่อความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวและส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ
ทั้งนี้ การปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม ในอัตรา 25% (เริ่ม 12 มีนาคม 2568) อาจส่งผลให้การส่งออกไปสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดหลักชะลอตัวลง โดยในปี 2567 ไทยมีการส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียม คิดเป็น 18.16% และ 13.29% ของการส่งออกทั้งหมด
ภาคท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากนักท่องเที่ยวในกลุ่มตลาดหลักที่ลดลงโดยในเดือนก.พ. 68 เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวจีน (-44.92% YoY) และมาเลเซีย (-16.57% YoY) ลดลงจากความกังวลด้านความปลอดภัย และการเข้าสู่ช่วงถือศีลอด
ด้านยอดส่งออกรถยนต์ลดลง จากการชะลอคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าเพื่อรอความชัดเจนในนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ในวันที่ 2 เม.ย. 68 โดยในเดือนก.พ. 68 ยอดการส่งออกลดลง 8.34% (YoY) กระทบอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ รวมไปถึงกำลังซื้อในภูมิภาคยังคงเปราะบาง จากแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงโดยเฉพาะข้าว อ้อยและมันสำปะหลังส่งผลต่อการใช้จ่ายในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ในเดือนมี.ค. ยังคงมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น การผ่อนคลายเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (เกณฑ์ LTV) ส่งผลดีต่อคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง
คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อลดภาระค่าพลังงานลง 50 สตางค์/ลิตร ในกลุ่มน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล โดยมีการปรับลดราคาในสองช่วง ได้แก่ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 และครั้งที่ 2 ในวันที่ 4 เมษายน 2568 และการจัดงานมอเตอร์โชว์ (26 มี.ค. - 6 เม.ย. 68) ที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศได้
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,357 ราย ครอบคลุม 47 กลุ่มอุตสาหกรรมของส.อ.ท. ในเดือนมี.ค. 68 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศ 57.3% เศรษฐกิจโลก 53.4% และสถานการณ์การเมืองในประเทศ 43.6% ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน 31.9% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) 30.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 18.3%
ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงเช่นกัน อยู่ที่ระดับ 95.7 ลดลงจาก 97.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เนื่องจากผู้ประกอบยังคงห่วงกังวลในเรื่อง มาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% ของสหรัฐฯ เริ่มวันที่ 2 เม.ย. 68 กระทบอุตสาหกรรมการส่งออกยานยนต์ รวมถึงชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ของไทย อีกทั้ง มาตรการตอบโต้ทางภาษี (Reciprocal Tariff) กับทุกประเทศที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ คาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 2 เม.ย. 68 ที่กระทบภาคการส่งออกของไทย
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่คาดว่าจะมาจากมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น และมีส่วนช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ (เริ่มรับคำขอตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 68) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น มาตรการเที่ยวคนละครึ่งและโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาทเฟส 3 คาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการบริโภคและการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2/68
สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ประกอบด้วย